
Self- Care : เหนื่อยมั้ย? ถึงเวลาดูแลตัวเองแล้วหรือยัง?
“Just like you do on a plane, you need to put on your own oxygen mask first before trying to help others.” -Dean Nancy Smyth
ในสถานการณ์ที่เราทุกคนต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ฝนเชื่อว่าหลายๆคนอาจจะอยู่ในภาวะเครียด เหนื่อย สิ้นหวัง ท้อแท้ บางคนอาจจะกำลังใช้ชีวิตไปแบบ autopilot ทำตามหน้าที่ของตัวเองไป ทำสิ่งที่ตัวเองต้องทำไปแต่ละวัน เข้านอนด้วยความอ่อนล้า รอเวลาให้ถึงวันหยุด หลายๆคนต้องใช้ชีวิตในแต่ละวันเต็มไปด้วยความกังวลใจ “ฉันทำงานดีพอหรือเปล่า” “ฉันจะโดนให้ออกจากงานหรือเปล่า” “ฉันจะมีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนหรือเปล่า” จะออกไปไหนก็กังวลว่า “ฉันจะติดเชื้อไวรัสหรือเปล่า” นี่เป็นแค่ตัวอย่าง แต่ละคนน่าจะมีความกังวลใจที่หลากหลายต่างกันไป และเราหลายๆคนก็ใช้ชีวิตอยู่กับความกังวลใจเหล่านี้จนเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะลองหยุดซักนิด แล้วถามตัวเองเบาๆว่า
“เป็นยังไงบ้าง?”
“เหนื่อยมั้ย?”
“มีอะไรให้เราช่วยเพื่อทำให้เธอรู้สึกดีขึ้นบ้างมั้ย?”
เราหลายๆคนใส่ใจดูแลเป็นห่วง ต้องการให้คนที่ตัวเองรักมีความสุข ในขณะเดียวกันบางครั้งเราก็ลืมที่จะห่วงใยตัวเอง และลืมไปว่าตัวเราเองก็ต้องการการเอาใจใส่เช่นกัน หนึ่งในเทคนิคที่ฝนได้เรียนรู้ระหว่างที่เรียนเกี่ยวกับ ความเมตตากรุณาต่อตัวเอง ( Self-Compassion) ก็คือการปฏิบัติต่อตัวเองให้เหมือนที่เราจะปฏิบัติต่อเพื่อนหรือคนที่เรารักมาก หากคนที่เรารักต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เราเป็นอยู่ เราจะพูดกับเขาว่าอย่างไร เราจะแนะนำเขายังไง ลองใช้คำแนะนำนั้นกับตัวเอง
หากคุณรู้สึกว่าชีวิตที่คุณกำลังใช้อยู่ตอนนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยสมดุลเท่าไหร่ คุณทำงานหนักเกินไป เครียดเกินไป กังวลมากไป รู้สึกเหนื่อยและหมดหวังกับหลายๆสิ่งหลายๆอย่างในชีวิต ลองหันกลับมาใส่ใจและดูแลตัวเองดูดีมั้ยคะ สำหรับคนที่เคยขึ้นเครื่องบิน ตอนที่พนักงานบนเครื่องบอกว่าหากเจอหลุมอากาศให้ใส่หน้ากากให้ตัวเองก่อนแล้วจึงใส่ให้คนข้างๆ ชีวิตเราก็คงคล้ายๆกันค่ะ เราต้องแข็งแรง มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง เพื่อที่เราจะได้พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นในส่วนที่เราทำได้ค่ะ เราไม่สามารถแบ่งปันสิ่งที่ตัวเราเองก็ยังไม่มีให้กับผู้อื่นได้
วันนี้ฝนเอาวิธีการดูแลและใส่ใจตัวเองมาฝาก (Self-Care) มาฝากค่ะ โดยจะขอแบ่งเป็นการตัวเองในด้านต่างๆนะคะ เราแต่ละคนอาจจะต้องการการใส่ใจตัวเองในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน บางคนทำด้านนึงดีแล้วแต่ละเลยด้านอื่นๆ ดังนั้นลองอ่าน ตั้งคำถามกับตัวเอง และทบทวนดูว่าด้านไหนที่คุณทำได้ดีแล้ว ด้านไหนที่คุณรู้สึกว่าตัวเองต้องการดูแลในส่วนนั้นให้มากขึ้นค่ะ ฝนขอแบ่งออกเป็น 4 ด้านนะคะ ด้านร่างกาย ความสัมพันธ์ จิตใจ และจิตวิญญาณค่ะ
(1) การดูแลสุขภาพกายของตัวเอง (Physical Self-Care)
หากเปรียบชีวิตของเราเหมือนการล่องเรือไปขั้วโลกเหนือ แน่นอนว่าเราไม่สามารถเดินทางไปได้ไกลหากเรือของเรานั้นไม่แข็งแรงพอ ชีวิตของเราก็เหมือนกันค่ะ เราต้องเดินทางไปตามเส้นทางชีวิตของเราไปเรื่อยๆเพราะฉะนั้นการมีร่างกายที่แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเดินทางของเรา
ลองถามตัวเองคำถามเหล่านี้ดูว่า
ตอนนี้ฉันนอนหลับพักผ่อนเพียงพอมั้ย?
ตอนนี้ฉันกินอาหารที่มีประโยชน์หรือเปล่า?
ฉันได้ออกกำลังกายเพียงพอหรือเปล่า?
ฉันได้ตรวจสุขภาพร่างกายของตัวเองบ้างมั้ย?
ร่างกาย อารมณ์ ความคิดและจิตใจของเรานั้นเชื่อมโยงกันค่ะ ดังนั้นถ้าเราดูแลสุขภาพกายให้เราให้ดีเราก็จะรู้สึกดีด้วยเช่นกัน แต่เราก็ไม่ได้ต้องเข้มงวดกับตัวเองมากนะคะ บางคนรู้สึกอยากเริ่มดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง แต่เริ่มด้วยการตั้งเป้าที่ยากที่จะสร้างให้เป็นนิสัยในระยะยาว อย่างเช่น คนที่ไม่ได้ออกกำลังกายมานานแล้ว อยากเริ่มดูแลดูเอง ก็ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะไปยิมสัปดาห์ละ 5 วัน หรือคนที่ไม่ค่อยได้กินอาการที่ดีต่อสุขภาพแล้วเริ่มตั้งเป้าว่าฉันจะกินคลีนทุกมื้อ เป้าเหล่านี้ฟังดูดีค่ะ แต่ก็อาจจะทำให้เราหลายๆคนทำมันได้ในระยะสั้นๆเท่านั้น เพราะฉะนั้นลองเริ่มด้วยกิจกรรมง่ายๆที่เราทำได้สม่ำเสมอก็ได้ค่ะ เช่น
เดินให้มากขึ้น ลองเดินขึ้นบันไดในที่ทำงานแทนการใช้ลิฟต์
เพิ่มมื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องทำทุกมื้อ แต่ใส่ใจและตระหนักรับรู้ในสิ่งที่ตัวเองกินมากขึ้น
รู้ว่าร่างกายของตัวเองต้องการการนอนคืนละกี่ชั่วโมงถึงจะเพียงพอ แต่ละคนก็จะมีความต้องการที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่เรามักต้องการนอนคืนละ 7-8 ชั่วโมง รับรู้ความต้องการของตัวเองและปรับเวลานอนของตัวเองให้ตัวเองได้พักผ่อนให้พอ
สำหรับคนที่ต้องใช้เวลาในการทำงานนั่งที่โต๊ะทำงานเป็นเวลานาน ก็ลองจัดให้เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ และโต๊ะของคุณอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อลดอาการปวดไหล่ ปวดคอ ปวดหลัง (ข้อนี้มาจากประสบการณ์ของตัวเองล้วนๆเลยค่ะ เพราะฝนต้องใช้เวลานั่งหน้าคอมวันละหลายชั่วโมงมาก)
(2) การดูแลตัวเองด้านความสัมพันธ์ (Social Self-Care)
หลังจากการต้องอยู่ในบ้านเยอะๆ รักษาระยะห่างกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อ หลายๆคนก็เริ่มมีความเหงา ความรู้สึกโดดเดี่ยวเกิดขึ้น
ลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ดูนะคะว่า
ฉันได้พูดคุยกับเพื่อนที่ฉันรักและแคร์เพียงพอหรือเปล่า?
ฉันได้พูดคุยกับคนในครอบครัวที่ฉันรักบ้างมั้ย?
ฉันมีเพื่อนที่ฉันสามารถไว้ใจและพูดคุยเรื่องต่างๆด้วยได้หรือเปล่า?
การมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกับคนใกล้ตัวของเราไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสุขใจของเรา คุณอาจจะลอง
ใช้เวลากับคนที่คุณรักและแคร์มากขึ้นเมื่อมีโอกาส
หากไม่ได้อยู่ใกล้กับครอบครัวก็ลองจัดเวลาที่คุณสามารถส่งข้อความหรือโทรคุยกับพวกเขาในแต่ละสัปดาห์
เข้าร่วมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมที่คุณชอบ เช่น กลุ่มเล่นหมากรุก กลุ่มอ่านหนังสือ การได้พูดคุยและทำกิจกรรมกับคนที่มีความชอบเดียวกันกับคุณก็จะช่วยทำให้คุณรู้สึกดี และเป็นส่วนหนึ่งกับพวกเขาเช่นกัน
(3) การดูแลตัวเองด้านจิตใจ (Mental Self-Care)
การดูแลจิตใจของตัวเองน่าจะเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการอยู่แล้วในทุกๆขณะ และยิ่งต้องการมากขึ้นในสถานการณ์ในปัจจุบัน
ลองถามตัวเองคำถามเหล่านี้ดูว่า
ฉันได้ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพจิตใจของฉันบ้างหรือเปล่า?
ฉันมีวิธีการรับมือกับความทุกข์ใจที่ดีหรือเปล่า
ฉันมีวิธีการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ดีแค่ไหน
ฉันฟังข่าวไม่ดีเยอะไปหรือเปล่าในแต่ละวัน
ฉันเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับชีวิตของคนอื่นที่ดูดีแล้วทำให้ฉันรู้สึกแย่กับชีวิตตัวเองหรือเปล่า
ฉันมีวิธีการพูดกับตัวเองแบบไหน
เราแต่ละคนมีวิธีการดูแลสุขภาพจิตในและวิธีการจัดการกับอารมณ์ของเราที่แตกต่างกัน ข้างล่างนี้เป็นไอเดียที่คุณอาจจะลองเอาไปใช้เพื่อส่งเสริมและสร้างความแข็งแรงให้สุขภาพจิตใจของตัวเองได้ค่ะ
ยอมรับอารมณ์ต่างๆของตัวเอง ไม่ว่าบางอารมณ์อาจจะเป็นอารมณ์ที่ทำให้คุณรู้สึกไม่ดีก็ตาม ยอมรับพวกเขาเข้ามา รับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขาและปล่อยวางค่ะ หลายๆงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่าการยอมรับอารมณ์ด้านลบเป็นการจัดการกับพวกเขาได้ดีกว่าการพยายามผลักพวกเขาออกไปหรือเก็บกดพวกเขาเอาไว้ค่ะ
รู้ว่ากิจกรรมอะไรที่คุณชอบทำแล้วหาเวลาทำกิจกรรมพวกนั้นบ้าง
รู้ลิมิตของตัวเอง รู้จักตอบปฏิเสธที่จะไม่ทำสิ่งที่คุณไม่อยากทำ
ขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถจัดการกับปัญหาตรงหน้าของตัวเองด้วยตัวเองได้ อย่าอายที่จะขอความความช่วยเหลือจากผู้อื่น
ช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมีโอกาส อาจจะเป็นการให้สิ่งของ การให้กำลังใจ การให้ความรู้
ร้องไห้บ้างก็ได้ไม่เป็นไร เราไม่จำเป็นต้องทำตัวเข้มแข็งตลอดเวลา
ชื่นชมผู้อื่นไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรที่เล็กๆน้อยๆก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน คนร่วมงาน
ฝึกความกรุณาต่อตัวเอง ลองกอดตัวเองเบา ลองพูดดีๆกับตัวเอง ลองพูดให้กำลังใจตัวเอง
กล่าวคำขอบคุณต่อผู้อื่นและต่อตัวเองให้บ่อยขึ้น
(4) การดูแลตัวเองด้านจิตวิญญาณ (Spiritual Self-Care)
“He who has a why to live for can bear almost any how.” ― Friedrich Nietzsche
การดูแลตัวเองด้านจิตวิญญาณน่าจะเป็นข้อที่ฝนให้ความสำคัญและมักจะทำอยู่เสมอ อย่างที่ Friedrich Nietzsche กล่าวไว้ว่า “คนที่มีเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ ย่อมอดทนได้กับทุกสิ่ง”
การดูแลตัวเองในด้านจิตวิญญาณนั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับศาสนาเสมอไป มันสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่คุณให้ความหมายในชีวิต การที่เรารู้ว่าความหมายของชีวิตของเราคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เราเชื่อและให้ความสำคัญ ชีวิตของเราอยู่ไปเพื่ออะไร ไม่ว่าเราจะต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เหนื่อยล้าแค่ไหน ตราบใดที่เราชัดเจนกับเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ของตัวเอง เราก็จะพยายามหาวิธีก้าวข้ามผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ หรือมองเห็นว่าสถานการณ์ยากลำบากในชีวิตที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่จะทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น เรียนรู้จากพวกมัน
กิจกรรมที่ทำแล้วส่งเสริมจิตวิญญาณของพวกเราแต่ละคนก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นก็ทำในสิ่งที่เหมาะกับตัวเองค่ะ ตัวอย่างนะคะ
เข้าวัด หากการเข้าวัดคือสิ่งที่คุณเชื่อและสำคัญต่อคุณ
เข้าโบสถ์ หากนั่นคือสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคุณ
อ่านบทกวี
จุดเทียนหอม
ออกไปเดินในธรรมชาติ
การเขียนบันทึก การได้ลองไตร่ตรองกับสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เราได้ค้นพบความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
การเขียนบันทึกความรู้สึกขอบคุณ
การอ่านหนังสือที่ส่งเสริมการเติบโตทางจิตวิญญาณของคุณ
อย่างที่บอกค่ะ คุณค่าทางจิตวิญญาณของเราแต่ละคนแตกต่างกันมาก ลองหากิจกรรมที่จะช่วยจรรโลงจิตวิญญาณของคุณให้เจอ แล้วให้โอกาสตัวเองได้ทำกิจกรรมเหล่านั้นบ่อยขึ้นในชีวิตประจำวันค่ะ
Takeaways
ตัวเราเองต้องการการดูแลและใส่ใจจากตัวเราไม่น้อยไปกว่าคนที่เรารัก
หยุดและถามตัวเองบ้างว่า “เธอโอเคมั้ย” “เธอเป็นไงบ้าง” “ฉันทำให้อะไรได้บ้างเพื่อทำให้เธอมีความสุขขึ้น”
ท้ายที่สุดให้รู้ว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวในความรู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า ที่เราเป็นอยู่ในตอนนี้ มีคนอีกจำนวนมากที่อยู่ในเรือลำเดียวกับเรา ฮึ้บๆ ค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ

You May Also Like

5 ภาษารัก ( The 5 Love Languages) คุณแสดงความรักแบบไหน?
กรกฎาคม 19, 2020
Political Stress Syndrome วิธีจัดการกับความเครียดจากการเมือง
พฤศจิกายน 4, 2020