
Emotional First Aid ทำไมเราควรปฐมพยาบาลอารมณ์
Emotional First Aid หรือการปฐมพยาบาลอารมณ์ เป็นคำที่นักจิตวิทยา Guy Winch ใช้ในหนังสือของเขา เป็นหนังสือที่ชื่อยาวมากกกกกกก ขอไม่แปลแล้วกันนะคะ ฮ่าๆๆ หนังสือชื่อ Emotional First Aid: Practical Strategies for Treating Failure, Rejection, Guilt, and Other Everyday Psychological Injuries
ฝนยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่มีโอกาสได้ฟังบรรยายของเขาใน Ted Talk, Talks at Google และอ่านสรุปจากหลายๆที่ เลยถือโอกาสเอาไอเดียคร่าวๆเกี่ยวกับ Emotional First Aids มาฝากค่ะ
Guy Winch กล่าวว่าโดยปกติแล้วคนเราจะให้ความสำคัญกับความเจ็บป่วยของร่างกายมากกว่าความเจ็บป่วยทางจิตใจ หรือบางครั้งเราไม่คิดที่จะดูแลบาดแผลทางจิตใจเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันเลยด้วยซ้ำ หากเราหกล้มแล้วมีแผลถลอกที่เข่า เราก็จะล้างแผลและติดพลาสเตอร์ยาทันที เพราะเราไม่อยากให้แผลของเราติดเชื้อ แต่บ่อยแค่ไหนกันที่เราโดนปฐมพยาบาลความรู้สึกของตัวเองเวลาที่เราโดนปฏิเสธ เหงา รู้สึกผิด เพื่อที่ความรู้สึกเหล่านี้ไม่เติบโตไปเป็นปัญหาที่จากจิตใจที่ใหญ่มากขึ้น
การเรียนรู้จะที่ปฐมพยาบาลความรู้สึกของตัวเองเมื่อมีเหตุการณ์มาทำให้เราเสียใจ ก็เหมือนการที่เราดูแลแผลทางร่างกายก่อนที่พวกเขาจะติดเชื้อและทำให้รักษาได้ยากขึ้นค่ะ
คุณเคยมีบาดแผลทางจิตใจอะไรที่เริ่มจากที่มันเป็นแผลเล็กๆน้อยๆจนมันกลายเป็นแผลที่ใหญ่ขึ้นมั้ยคะ?
ฝนลองนั่งคิดของตัวเองดู ลองถามตัวเอง สิ่งแรกที่ฝนนึกถึงน่าจะเป็น การที่ตัวเองโดนเรียกว่า หน้าตาน่าเกลียดตั้งแต่เด็กค่ะ จำได้ว่าตอนเด็กๆเวลาโดนผู้ใหญ่ทั้งคนในครอบครัว เพื่อนบ้านและคุณครูที่โรงเรียนคอมเมนต์ว่าฝน ugly ฝนจะรู้สึกเสียใจ แต่ก็ตอนนั้นก็เป็นเด็กอ่ะนะ ทำอะไรได้ ก็เชื่อเขามาเรื่อยๆ จนโต โชคดีที่ถึงแม้ว่าจะที่เชื่อว่าตัวเอง ugly ฝนยังคงมีความมองโลกในแง่ดีสูงและมี self esteem ค่อนข้างดีไม่งั้นชีวิตน่าจะลำบากกว่านี้ ฮ่าๆๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคอมเมนต์เล็กๆน้อยๆของผู้อื่น ที่คนพูดอาจจะไม่ได้เห็นว่าเป็นคำพูดที่สำคัญด้วยซ้ำ สามารถทำให้เด็กคนนึงเสียใจ เชื่อในคำพูดเหล่านั้นและเป็นแผลฝังในใจไปได้ในระยะยาว
ตัวอย่างของฝนเป็นบาดแผลที่เกิดขึ้นตอนที่ฝนยังเด็ก ยังไม่รู้ว่าควรจะต้องดูแลตัวเองยังไง แต่หากคุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ฝนเชื่อว่าคุณน่าจะอยู่ในจุดที่หากคุณต้องการคุณสามารถที่จะปฐมพยาบาลอารมณ์ของตัวเองได้เมื่อคุณต้องเสียใจจากบางสิ่งบางอย่าง ลองมาดูตัวอย่างวิธีการปฐมพยาบาลอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองกันค่ะ
วิธีการปฐมพยาบาลอารมณ์ของตัวเอง
1. รับรู้และเท่าทันความรู้สึกของตัวเอง
การพยายามหลีกเลี่ยงหรือเก็บกดความรู้สึกเจ็บปวดของตัวเอง ไม่ได้ช่วยทำให้บาดแผลเหล่านั้นหายไป เราอาจจะพยายามเบี่ยงเบนความสนใจหรือหลีกเลี่ยงที่จะนึกถึงความรู้สึกเหล่านั้น แต่เช่นเดียวกับบาดแผลทางร่างกาย เวลาที่เรามีแผลถลอกที่เข่า การพยายามไม่นึกถึงมัน พยายามหากิจกรรมอย่างอื่นทำ ไม่ได้ทำให้บาดผลที่หัวเข่าของเราหายไป หากเราปล่อยแผลเอาไว้โดยที่ไม่ได้รับการปฐมพยาบาลที่เหมาะสม แผลอาจจะติดเชิ้อได้ในภายหลัง
ข้อแนะนำ
ลองให้เวลาตัวเองได้รับรู้และตระหนักถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตใจของตัวเอง แม้ว่าจะบางครั้งเราอาจจะเป็นแค่การเสียใจเล็กๆน้อยๆ ก็ลองให้เวลาเพื่อรับรู้ความรู้สึกเหล่านั้นและดูแลพวกเขาก่อนที่พวกเขาจะลุกลามไปเป็นบาดแผลทางจิตใจที่ใหญ่ขึ้น หนึ่งในวิธีการให้เวลาตัวเองได้รับรู้และตระหนักถึงความรู้สึกของตัวเองคือ การเขียนบันทึก
2. หยุดรำพึงถึงเรื่องแย่ๆ
การยึดติดและคิดถึงเหตุการณ์แย่ๆที่เกิดขึ้นแล้วในหัวของตัวเองซ้ำไปซ้ำมา โดยที่ไม่ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาหรือเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น แค่ย้ำคิดและรู้สึกแย่เฉยๆ ไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และทำให้การเยียวยาบาดแผลทางความรู้สึกของเราเกิดขึ้นได้ช้าลง
ข้อแนะนำ
ลองหาอะไรด้านบวกทำเพื่อเอาตัวเองออกมาจากการย้ำคิดถึงเรื่องแย่ๆที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น การออกกำลังกาย งานศิลปะ การเล่นหมากรุก
3. ลองนิยามความล้มเหลวใหม่ดู
การที่เราไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ได้ มักจะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ไม่มีความสามารถและบางครั้งเราก็ใช้เวลาไปโฟกัสอยู่ที่สิ่งที่เราทำไม่ได้ แทนที่จะโฟกัสที่สิ่งที่ตัวเองทำได้ นำมาซึ่งการประนามตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ ไม่มีค่าข้อแนะนำ
ลองสร้างลิสต์ของสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคุณและคุณสามารถทำได้ ลองดูว่าคุณจะสามารถแก้ไขหรือพัฒนาอะไรได้บ้าง
4. อย่าปล่อยให้ความรู้สึกผิดครอบครองจิตใจของเรานานเกิดไป
ทุกคนล้วนมีสิ่งที่ตัวเองทำลงไปแล้วรู้สึกว่า ช้านไม่ควรทำอย่างนั้นเลยนะ ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองกระทำไป ความรู้สึกผิดในปริมาณเล็กน้อยที่เหมาะสมสามารถช่วยให้เราเกิดการพยายามเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นได้ แต่ความรู้สึกผิดอย่างมากในระยะยาวโดยที่ไม่มีการวางแผนหรือพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นจะเป็นตัวบั่นทอนสุขภาพทางจิตใจของตัวเราเองข้อแนะนำ
หากเราทำผิดต่อผู้อื่น ลองหาวิธีขอโทษคนที่เรากระทำผิดด้วย
หากเราทำอะไรที่ผิดพลาดไปแล้วมีหนทางที่เราสามารถพัฒนา เปลี่ยนแปลงได้ ให้ใช้พลังงานของตัวเองไปในการพยายามเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แทนการใช้เวลาไปกับความรู้สึกผิดแต่ไม่ลงมือทำอะไรเลย
5. หาความหมายในความสูญเสียที่เกิดขึ้น
การสูญเสียเป็นธรรมดาของชีวิต เราทุกคนล้วนแล้วแต่เคยสูญเสียอะไรบางอย่างที่เรารักหรือสิ่งสำคัญสำหรับเรา คนที่เรารักเสียชีวิต เลิกกับคู่ครอง สูญเสียงานที่ทำ บางครั้งการสูญเสียก็เป็นตัวที่คอยดึงให้เราไม่สามารถเดินหน้าต่อไปในชีวิตได้หากเราไม่ได้เยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้นข้อแนะนำ
หากคุณลองได้ให้เวลาตัวเองได้อยู่กับความสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้วระยะหนึ่งแล้วพบว่าตัวเองยังไม่สามารถเดินไปต่อได้ คุณอาจจะต้องลองมองความสูญเสียที่เกิดขึ้นในมุมมองใหม่
ลองหาความหมายจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น คุณอาจจะได้เรียนรู้อะไรจากมัน
ลองช่วยเหลือคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายๆกัน ก็จะสามารถช่วยทำให้ความเจ็บปวดของเราเบาบางเราได้เช่นกัน เพราะเราได้รับรู้ว่า ความสูญเสียเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดานะ คนอื่นอีกหลายๆคนก็มีประสบการณ์เหล่านี้เช่นกัน
6. อ่อนโยนกับตัวเอง
บางครั้งเวลาที่เราทำอะไรผิดพลาด หรือโดนปฏิเสธ อาจจะทำให้เราเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง ว่าตัวเอง ฝนเชื่อว่าหลายๆคนเคยด่าตัวเองว่า โง่ ไม่มีความสามารถ นิสัยไม่ดี ไม่มีคนอยากจะรัก การพูดกับตัวเองแบบนี้เป็นการทำให้เราสูยเสียความเชื่อมั่นในตัวเองข้อแนะนำ
ในช่วงเวลาที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งเลย ลองเขียนสิ่งดีๆเกี่ยวกับตัวเองออกมาดู
เขียนสิ่งปลอบตัวเองตัวเอง แสดงความเห็นใจให้ตัวเองเหมือนสิ่งที่เราจะเขียนให้เพื่อนหากเพื่อนอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน
ความเชื่อมั่นและเคารพในตัวเองสามารถเป็นภูมิคุ้มกันให้เราได้เมื่อเราเจอกับเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลให้ความรู้สึกของเราได้และช่วยทำให้เรามีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ได้มากขึ้น
บาดแผลทางอารมณ์ บาดแผลทางจิตใจเล็กๆน้อยๆเป็นอะไรที่เรามองไม่เห็น การละเลยที่จะดูแลบาดแผลเหล่านี้จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไป อย่าว่าแต่การดูแลบาดแผลทางจิตใจเล็กๆน้อยเลย หลายครั้งถึงแม้เราจะรู้ว่าแผลในใจของเราไม่เล็กๆน้อยๆแล้วนะ มันเริ่มใหญ่แล้วนะ เริ่มติดเชื้อแล้วนะ เริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราแล้วนะ เราก็เลือกที่จะหลีกเลี่ยงที่จะให้ความสำคัญกับพวกเขา จนกระทั่งถึงจุดที่จิตใจไม่ไหวแล้วจริงๆ
ฝนคิดว่าตัวเองโชคดีที่มีสุขภาพจิตค่อนข้างดี และมักจะรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ต้อง self-care ตัวเองทั้งในส่วนของจิตใจและร่างกาย แต่ฝนก็มีเพื่อน มีคนในครอบครัวหลายๆคนที่ฝนได้เห็นพวกเขาละเลยการดูแลจิตใจของตัวเองในขณะที่พวกเขามีแผลเล็กๆจนกระทั่งแผลเหล่านั้นลุกลามถึงจุดที่พวกเขาไม่สามารถ function ปกติได้ ดังนั้นจึงอยากมาเชิญชวนมาฝึก Emotional First Aids กันค่ะ บาดแผลทางจิตใจถึงแม้เราจะมองไม่เห็นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาสำคัญน้อยกว่าบาดแผลทางร่างกายค่ะ
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=vBqoA1V6Fgg
https://www.psychologies.co.uk/emotional-first-aid
https://ideas.ted.com/7-ways-to-practice-emotional-first-aid/
https://psychcentral.com/blog/emotional-first-aid/
https://www.psychotherapynetworker.org/blog/details/172/emotional-first-aid-for-everyday-issues


You May Also Like
